สวัสดีค่ะ Santa นะคะ
ในข้อสอบโทอิคทั้งหมด 7 พาร์ท ข้อสอบที่วัดไวยากรณ์หรือ Grammar จะเจออยู่ในพาร์ท 5 และ 6 ค่ะ โดยพาร์ท 5 จะให้เติมคำลงประโยคให้สมบูรณ์ ส่วนพาร์ท 6 จะให้เติมบทความให้สมบูรณ์ ซึ่งแม้จะไม่ได้ถาม Grammar ตรงๆ แต่ก็เป็นข้อสอบที่เราต้องรู้ Grammar ระดับหนึ่งถึงจะเลือกคำตอบได้ถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้าจะสอบโทอิค Grammar ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่ต้องเรียนค่ะ
เชื่อว่ามีหลายๆคนที่ตัดสินใจเริ่มเรียนเตรียมตัวสอบโทอิคแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากไวยากรณ์ตรงไหนใช่ไหมคะ Grammar พื้นฐานที่ต้องเรียนรู้เป็นอย่างแรกคือ ชนิดของคำและรูปแบบของประโยคค่ะ ซึ่งวันนี้เราจะมาทำความเข้าใจสองเรื่องนี้กัน มาเริ่มเรียน Grammar พื้นฐานโทอิคกับ Santa กันเลยค่ะ
ก้าวแรกของการเรียน Grammar พื้นฐานของโทอิค! 8 ชนิดของคำคืออะไร?
ชนิดของคำเรียกได้ว่าเป็นส่วนพื้นฐานและส่วนสำคัญที่สุดในการสร้างประโยค ซึ่งในภาษาอังกฤษมีชนิดของคำทั้งหมด 8 ชนิดค่ะ เรามาดูทีละประเภทกันเลย
คำชนิดแรกสุดคือคำนาม (Noun) นั่นเองค่ะ คำนามก็คือชื่อที่เรียกคนและสิ่งของ เช่นชื่อ John ใช้เรียกคน หรือคำว่า book, desk ที่ใช้เรียกสิ่งของ ทั้งหมดนี้คือคำนามค่ะ
แต่ว่าในภาษาอังกฤษไม่ชอบใช้คำเดียวกันซ้ำบ่อยๆค่ะ เพราะฉะนั้นกรณีที่ต้องใช้คำนามเดียวกันซ้ำๆในบทความ เราต้องใช้คำอื่นในการเรียกแทนคำนามนั้น ซึ่งก็คือชนิดของคำประเภทที่2 คำสรรพนาม (Pronoun) นั่นเองค่ะ ลองมาดูตัวอย่างนี้กันนะคะ “John is reading a book. John thinks the book is interesting.” ประโยคนี้ถ้าเราใช้สรรพนาม “he” กับ “it” แทนคำนาม John กับ book ก็จะได้ประโยคที่ดูดีกว่าเดิมว่า “John is reading a book. He thinks it’s interesting.”
ชนิดของคำประเภทต่อไปคือคำกริยา (Verb) ซึ่งทางเราคิดว่าปัญหาใหญ่สำหรับผู้ที่กำลังเรียน Grammar พื้นฐานโทอิคหลายๆคนก็คือคำกริยานี่เลยค่ะ คำกริยาคือคำที่แสดงการกระทำ เช่น walk (เดิน) / have (มี) / go (ไป) โดยสามารถแบ่งประโยคเป็น ประโยคที่บรรยายการกระทำของประธาน(คำนาม, คำสรรพนาม) และประโยคที่บรรยายสภาพของประธาน เรียกได้ว่าคำกริยาทำหน้าที่สำคัญในประโยคเลยค่ะ
ถ้าอย่างนั้นเมื่อมีคำกริยาแสดงการกระทำ แล้วคำประเภทไหนที่บรรยายลักษณะ/สภาพคะ? หน้าที่นั้นเป็นของคำคุณศัพท์ (Adjective) ค่ะ ตัวอย่างคำคุณศัพท์ภาษาอังกฤษ เช่น Excellent (ยอดเยี่ยม) / possible (เป็นไปได้)
แต่ว่าคำคุณศัพท์นี้สามารถขยายได้แค่คำนามนะคะ ถ้างั้นคำชนิดไหนที่สามารถขยายคำกริยาได้คะ? คำตอบก็คือคำวิเศษณ์ (Adverb) ค่ะ ซึ่งคำวิเศษณ์นี้สามารถขยายได้ทั้งคำกริยา คำคุณศัพท์ คำวิเศษณ์ด้วยกันเอง และขยายทั้งประโยคได้ด้วย แต่ต้องห้ามลืมเด็ดขาด! ว่าคำวิเศษณ์ขยายคำนามไม่ได้นะคะ
คำบุพบท (Preposition) คือประเภทคำที่ใช้วางอยู่ด้านหน้าคำนามหรือคำสรรพนาม เพื่อแสดงความสัมพันธ์กับคำนามหรือคำสรรพนามนั้นๆ เช่น บอกตำแหน่ง เวลา ทิศทาง ความเป็นเจ้าของ เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น In (ใน~) / on (บน~)
หากคำบุพบทใช้บอกความสัมพันธ์ของคำนาม ถ้าอย่างนั้นคำที่ใช้เชื่อมก็คือคำสันธาน (Conjunction) ค่ะ เช่นประโยค “I ate a chocolate and a cake last night.” จะเห็นว่ามี and ในการเชื่อมคำนาม a chocolate และ a cake หรือสามารถบอกว่าคำสันธานใช้เชื่อมระหว่างประโยคกับประโยคก็ได้เหมือนกันค่ะ
ชนิดของคำประเภทสุดท้ายก็คือคำอุทาน (Interjection) อย่างคำว่า “Oh my god!” ที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี คำอุทานใช้ในการแสดงอารมณ์ดีใจ เสียใจ ตกใจ เป็นต้น
ตอนนี้เริ่มเข้าใจชนิดของคำ 8 ประเภทของภาษาอังกฤษนี้แล้วหรือยังคะ? แต่ไม่สามารถเอาคำแต่ละประเภทมาต่อๆกันเป็นประโยคได้นะคะ เพราะว่าแต่ละชนิดคำมีตำแหน่งในประโยคที่ชัดเจนตามแกรมม่า โดยในประโยคจะประกอบไปด้วยส่วนที่เป็น ประธาน(S), กริยา(V), กรรม(O), ส่วนเติมเต็ม(C) ทั้งหมด 4 ส่วน ต่อไปนี้เราจะมาดูกันว่าทั้ง 4 ส่วนนี้ประกอบออกมาเป็นประโยคได้อย่างไร และประเภทประโยคทั้ง 5 แบบมีอะไรบ้างค่ะ
Grammar พื้นฐานโทอิค – 5 รูปแบบประโยค
แบบที่ 1 เป็นรูปแบบประโยคพื้นฐานที่สุด โดยมีเพียงประธานและกริยาในประโยค อย่างเช่นประโยค “He arrived. (เขามาถึงแล้ว)” เป็นประโยคที่ไม่ต้องการคำส่วนอื่นๆนอกจากประธานและกริยา ดังนั้นประโยคแบบที่ 1 จะสามารถใช้อกรรมกริยาได้เท่านั้น (คำกริยาที่ไม่ต้องการกรรมมารองรับ)
แบบที่ 2 มีประธาน กริยา และส่วนเติมเต็ม โดยส่วนเติมเต็มก็คือส่วนขยายที่ทำให้ประโยคสมบูรณ์นั่นเองค่ะ ส่วนเติมเต็มสามารถเป็นคำนามหรือคำคุณศัพท์ก็ได้ ซึ่งถ้าใส่คำนามในตำแหน่งส่วนเติมเต็ม จะให้ความหมายเทียบเท่าประธาน แต่ถ้าใส่คำคุณศัพท์ในตำแหน่งส่วนเติมเต็ม จะเป็นการบอกสภาพ/คุณสมบัติของประธาน ลองมาดูตัวอย่างประโยคกันนะคะ “He is a student. เขาเป็นนักเรียน” คำนาม “a student” อยู่ในตำแหน่งส่วนเติมเต็ม ซึ่งให้ความหมายว่า he (เขา) = a student (นักเรียน) แต่ประโยค “He is kind. (เขาใจดี)” คำคุณศัพท์ “kind (ใจดี)” อยู่ในตำแหน่งส่วนเติมเต็ม ซึ่งให้ความหมายว่า“kind (ใจดี)” คือลักษณะของประธาน “he (เขา)” ค่ะ
แบบที่ 3 เป็นรูปแบบที่พบได้บ่อยที่สุด โดยประกอบไปด้วยประธาน กริยา และกรรม แบบที่ 3 นี้ออกข้อสอบโทอิคบ่อยด้วยนะคะ โดยตำแหน่งกรรมคือคำนามที่มารับคำกริยาของประโยค อย่างเช่นประโยค “I like a dog.” ด้านหลังคำว่า like ต้องมีคำนามมาต่อท้าย เพื่อให้ความหมายของประโยคสมบูรณ์ว่า ‘ชอบ~’ ซึ่งคำนามที่มาต่อท้ายเรียกว่ากรรมค่ะ
แบบที่ 4 จะเพิ่มกรรมอีกหนึ่งตัวจากแบบที่ 3 (ประธาน+กริยา+กรรม) ค่ะ โดย 2 กรรมนี้จะเรียกว่า กรรมตรง (Direct Object) และกรรมรอง (Indirect Object) ค่ะ อย่างเช่นคำกริยา ‘Give (ให้)’ ต้องการข้อมูลว่า ‘ใคร (ประธาน), ให้อะไร (กรรมตรง), แก่ใคร (กรรมรอง)’ เพราะฉะนั้นก็เลยต้องมีกรรม 2 ตัวนั่นเองค่ะ โดยในประโยคภาษาอังกฤษเราจะวางกรรมรองก่อน แล้ววางกรรมตรงไว้ท้ายสุดของประโยค
แบบที่ 5 จะเพิ่มส่วนเติมเต็มจากแบบที่ 3 (ประธาน+กริยา+กรรม) ค่ะ โดยจะเห็นได้จากที่อธิบายก่อนหน้านี้ไปว่าแบบที่ 2 มีส่วนเติมเต็มใช่ไหมคะ ซึ่งส่วนเติมเต็มในแบบที่ 2 ทำหน้าที่ขยายประธาน แต่ส่วนเติมเต็มในแบบที่ 5 นี้ทำหน้าที่ขยายกรรมค่ะ ลองมาดูประโยคนี้กันนะคะ “People call him John.” ส่วนเติมเต็มกรรมที่อยู่ท้ายประโยคคือ John จะเห็นได้ว่า John ไม่ได้หมายถึงส่วนประธาน People แต่ขยายส่วนกรรม him ค่ะ (‘him = John’)
ลองมาใช้ 8 ชนิดของคำและรูปแบบประโยคในข้อสอบโทอิคจริงกัน!
ถ้างั้นเราลองมาดูข้อสอบจริงที่ใช้ชนิดคำ 8 ชนิดและรูปแบบประโยคทั้ง 5 แบบที่เราได้เรียนดูกันค่ะ
เริ่มข้อแรกเลยนะคะ
Question 1.
All of the bicycles at Velosport Cycles are available in aluminum ——- titanium frames.
(A) like
(B) or
(C) so
(D) then
ตอบกันได้ไหมคะ?
ถ้าเลือกคำตอบได้แล้ว เรามาดูคำตอบที่ถูกกันเลยค่ะ
คำตอบที่ถูกต้องก็คือข้อ (B) or ค่ะ ซึ่งเราต้องการคำสันธานในช่องว่าง หน้าหลังช่องว่างจะเห็นคำนาม 2 คำ aluminum(อลูมิเนียม) กับ titanium(ไททาเนียม) ที่ให้เราเลือกได้ ดังนั้นเราจึงต้องเลือกคำสันธานมาเชื่อมนั่นเองค่ะ ดูจากช้อยส์ทั้งหมดแล้ว มีเพียงข้อ (B) or กับ (C) so ที่เป็นคำสันธาน ข้อที่มีความหมายเหมาะสมที่สุดก็คือข้อ (B) ค่ะ ถ้าเรายังจำเรื่องชนิดของคำทั้ง 8 ชนิดได้ จะทำข้อนี้ได้ถูกต้องแน่นอนค่ะ
ลองมาดูอีกสักข้อนะคะ
Question 2.
The proposal includes ——- of a new factory.
(A) construct
(B) constructive
(C) construction
(D) constructively
ถ้าได้คำตอบกันแล้ว มาดูเฉลยกันค่ะ
คำตอบที่ถูกต้องของข้อนี้คือ (C) ค่ะ ข้อนี้ให้เราเลือกชนิดของคำที่เหมาะสมลงในช่องว่าง โครงสร้างประโยคของข้อนี้เป็นแบบที่ 3 <ประธาน (The proposal) + กริยา (includes) + กรรม (_______ of a new factory)> แสดงว่าด้านท้ายของประโยคต้องเป็นคำนามที่ทำหน้าที่เป็นกรรม ช้อยส์ที่เป็นคำนามมีเพียงข้อ (C) construction ข้อนี้จึงเป็นคำตอบที่ถูกต้องค่ะ ช้อยส์ (A) construct(สร้าง) เป็นคำกริยา, (B) constructive(ที่สร้างสรรค์) เป็นคำคุณศัพท์, (D) constructively(ในเชิงก่อ) เป็นคำวิเศษณ์ ทั้งหมดไม่สามารถวางในตำแหน่งกรรมได้ ข้อพวกนี้จึงผิดค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ? ได้ลองดูข้อสอบจริงกันแล้วด้วย ทุกคนน่าจะจำ 8 ชนิดคำและ 5 รูปแบบประโยคกันได้แล้ว ค่อยๆเรียน Grammar พื้นฐานโทอิคไปทีละหัวข้อ เพื่อได้คะแนนโทอิคตามเป้าที่ตั้งไว้นะคะ Santa ขอส่งกำลังใจให้ทุกคนค่ะ!
Santa เป็นโซลูชั่นที่ใช้เทคโนโลยี AI มาเพิ่มคะแนนโทอิคของทุกคนอย่างได้ผลจริง
ข้อสอบโทอิคอัพเดทล่าสุด วิดีโอเรียนฟรี รวมไปถึงวิธีการเรียนโทอิคที่เข้ากับคุณ ทั้งหมดนี้รวมครบในแอพ Santa เท่านั้น ลองเข้าไปดูได้เลย!